วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2549

ชื่อรอง หรือ ชื่อกลาง

ชื่อรอง หรือ ชื่อกลาง 18/9/2549

จั่วหัวอย่างงี้ หลายคนคงงง อะไรเหรอคะ...ชื่อรอง อย่างที่บอกไว้เมื่อฉบับที่แล้วว่าถ้ามีเวลาจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่าให้ฟัง เพราะเป็นประสบการณ์สดๆร้อนๆซิงๆ ปัจจุบันการใช้ชื่อรองถือเป็นเรื่องที่เห็นกันได้บ่อยขึ้นในสังคม อ๊ายย....พูดมาตั้งนานลืมยกตัวอย่างให้ฟัง

ชื่อรอง หรือที่บางคนเข้าใจก็คือชื่อกลาง เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาไว้ตรงกลางระหว่างชื่อตัวกับชื่อสกุล ฝรั่งเค้าเรียก middle name (ชื่อก็บอกอยู่ทนโท่) อย่าง เรเน่ แคทเธอรีน เซลวีเกอร์ หรือ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เอฟตัวนี้ย่อมาจากชื่อรองเต็มๆอีกที ทีนี้ทุกคนคงจะเข้าใจแล้วว่าไอ้ชื่อรองที่เราเรียกนี่มันคืออะไร

ปัจจุบันในเมืองไทยก็ชักจะมีคนเริ่มมาใช้ชื่อรองกันมากขึ้น อย่างนึงเพราะเดี๋ยวนี้หญิงไทยแต่งงานกับฝรั่งเยอะ เวลาเปลี่ยนก็อาจจะมีชื่อรองเข้ามาผสมปนเป ทางอำเภอ โดยเฉพาะอำเภออุดร ก็เลยจะได้เจอเคสแบบนี้เยอะหน่อย ส่วนสาวไทยที่ไม่ได้แต่งกับฝรั่งก็อาจมีหลายเหตุผล เช่น อาจจะอยากคงสกุลเดิมเอาไว้ นัยว่าตูใช้ของตูมาตั้งนานแล้ว ไม่อยากเปลี่ยนอย่างแรง ก็ไปขอเพิ่มเอานามสกุลเดิมไปเป็นชื่อรองอย่างนี้ก็ได้

ก่อนอื่นขอเท้าความนิดนึง หลักการของชื่อรองนี่เกิดขึ้นตามพ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 กล่าวไว้ว่า “ชื่อรอง” คือ ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และจะมีชื่อรองก็ได้ โดย ชื่อตัวหรือชื่อรอง ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย ผู้ที่ได้รับหรือเคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอดถอน จะได้รับราชทินนามเป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้
ชื่อรองต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง และต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือกรณีบุตรใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองของตน คู่สมรสอาจใช้ชื่อสกุลของอีกผ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมจากฝ่ายนั้นแล้ว

ทั้งหมดที่ว่ามานั่นก็เป็นหลักการพอให้รู้คร่าวๆว่าการจะใช้ชื่อรองมีกฎเกณฑ์ ข้อจำกัด หรือข้อบังคับอะไรบ้าง คราวนี้เราก็มาว่ากันถึงกระบวนการกว่าจะได้ชื่อรองมา หะแรกตั้งแต่ก่อนแต่งงานแล้วที่ตั้งปณิธานมุ่งมั่นว่า ยังไงเซี้ย ขอมีชื่อรองกับเค้าให้ได้ เหตุผลคือหนึ่งรักนามสกุลเดิมมาก และสองคือมันแปลกดี เห็นท่านผู้พิพากษาที่ป๊ะป๋ารู้จักก็มีชื่อรองให้ได้มองอยู่ในหนังสือทำเนียบ เลยคิดว่า เอาล่ะ ฉันต้องมีแบบนั้นให้ได้ จะได้ไม่เสียนามสกุลเดิม

พอเสร็จจากงานแต่งงาน 18 มิ.ย. ก็ลีลาแล้วลีลาอีกไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส คือว่าอยากโสดฟอเอฟเวอร์ แต่ทีนี้มันต้องย้ายนิวาสถานมาอยู่เมืองกรุงและต้องทำนิติกรรมอีกมากมาย เลยได้หันเฮดไปจดเอาวันที่ 22 มิ.ย. อาศัยว่าเลขสวย 22 ตอนแรกบ้านนอกด้วยนะ เตรียมตัวไปจดที่เทศบาลเต็มที่ ถูกพี่สะใภ้เบรกหัวทิ่มหัวตำมาเลยว่าเค้าไปจดกันที่อำเภอค่ะคุณน้อง ไปอยู่ที่ไหนมาคะเนี่ย ใครถามอย่าบอกว่ารู้จักพี่นะคะ พี่อาย
เลยได้ไปอำเภอ พอไปถึง ยื่นเรื่องให้เจ้าหน้าที่เสร็จก็ถามต่อเลยว่า เอ่อ คือ ไหนๆก็จะเปลี่ยนนามสกุลแล้ว เลยอยากเพิ่มชื่อกลางเข้ามาด้วยน่ะคะ ทำพร้อมกันได้เลยใช่ไหมคะ เจ้าหน้าที่งง...อะไรคะน้อง ชื่อกลาง คุยไปคุยมากว่าเจ้าหน้าที่จะเกทก็นานมาก ไอ้เราก็เลยถึงบางอ้อว่า ทางเทคนิคัลเทอม เค้าเรียกชื่อกลางที่เราเข้าใจมาตลอดชีวิตนี่ว่า “ชื่อรอง” แล้วเจ้าหน้าที่ก็โบ้ยกันไปโบ้ยกันมาว่ามันต้องทำงี้ๆ เข้าใจว่าแต่ละคนคงไม่ค่อยถนัดนักที่หญิงไทยไม่ได้แต่งกับฝรั่งจะขอใช้ชื่อรอง

แล้วพี่คนที่ดูมีภูมิที่สุดก็สาธยายให้ฟังว่า น้องต้องจดทะเบียนสมรสก่อนนะคะ พอจดเสร็จแล้วก็เอาทะเบียนสมรสเนี่ยไปที่เทศบาล เพื่อไปเปลี่ยนชื่อในทะเบียนบ้าน จากนั้นก็ไปทำบัตรประชาชนที่เป็นนามสกุลสามี แล้วก็กลับมาที่อำเภอเพื่อยื่นเรื่องขอชื่อรอง พอขอชื่อรองเสร็จ ก็กลับไปที่เทศบาล ไปเพิ่มชื่อรองเข้าในทะเบียนบ้าน แล้วก็ทำบัตรประชาชนใหม่อีกใบโดยใส่ชื่อรองเข้าไป เท่านี้ล่ะคะ ว่าแต่... น้องเป็นคริสต์เหรอคะ ถึงต้องมีชื่อรอง อีตูก็ไม่รู้จะตอบว่าไงว่าอยากเท่ อยากมีแบบชาวบ้านเค้า อยากได้นามสกุลเก่า เลยได้ตอบอ้อมๆแอ้มๆไปว่า เอ่อ.. คุณพ่อเค้าอยากให้คงชื่อรองเอาไว้หน่ะคะ คุณพ่อขอร้อง

ทีนี้ก็เอาสิ กระบวนการมันไม่เมกเซนส์สักเท่าไหร่ ทำไมต้องกลับไปกลับมาระหว่างอำเภอกับเทศบาล ทำทีเดียวไม่ได้เหรอ จดแล้วของชื่อรองไปด้วย แล้วไปทำทะเบียนบ้านทีเดียว บัตรประชาชนทีเดียว ทำไมต้องกลับไปกลับมา เฮ้ย ... ที่พี่เค้าบอกนี่เราต้องทำงี้จริงๆเหรอ แล้วพี่เค้ายังบอกด้วยนะว่าพี่ไม่ชัวร์ ต้องรอหัวหน้าพี่มาก่อน หัวหน้าเค้าไม่อยู่ด้วย จังหวะนั้นพรพรรณก็เหงื่อตกสิ ง่ายๆไม่ ยากๆเอา เรื่องๆยากๆนี่ชอบนัก แล้วนี่กว่าจะจบกระบวนการ ไม่ต้องนั่งจนเงกเหรอ ทำเอกสารทางราชการนี่มันต้องรอนานแน่ (คิดแบบอดีตไง)

ก็นั่งคิดกับแฟน มาเคสนี้นี่ทำไงล่ะ เลยกลับบ้านไปตั้งหลักก่อน ไปขอเบอร์ท่านผู้พิพากษากับพ่อ แล้วก็โทรไปปรึกษา ปรากฏว่าท่านก็ทำกระบวนการนี้เหมือนกันนี่แหละ ซ้ำๆซ้อนๆเหมือนกันเลย ถามท่านว่าเอ่อ.. ชีวิตท่านยุ่งยากมั้ยนับแต่มีชื่อรองมา ท่านก็บอก อุ้ย...ไม่นะน้องติ๊ก ก็โอนะก็โอ เพียงแต่ชื่อมันจะยาว ไปทำธุรกรรมบางอย่างคนเค้าก็อาจจะไม่ชิน นอกนั้นก็โอ พอทน เราก็เอ่อ พอทน เอาล่ะ เป็นไงเป็นกัน ไปวันนี้แหละ อีกอย่าง วันนี้วันที่ 22 ถ้าไม่จดวันนี้ก็จะไม่ได้เลขสวย

เลยไปจดทะเบียนสมรส แป๊บเดียวเสร็จ ยื่นคำร้อง เอาลงไปให้เจ้าพนักงานเซ็น แล้วก็ไปซีร็อกซ์ แล้วก็ขึ้นมาชั้นสองจ่ายตังค์ ตอนก่อนเซ็นเจ้าหน้าที่ก็จะบอกว่ามีสามออพชั่นให้เลือกเรื่องนามสกุล คือ หนึ่ง ใช้นามสกุลตัวเอง สอง ใช้นามสกุลสามี สาม ใช้นามสกุลทั้งของสามีและของตัวเอง สมัยนี้ดีนะคะ มีให้เลือกด้วย เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็ถาม มีบุตรรึยังครับ ไม่มีค่ะ แล้วแต่งงานวันที่เท่าไหร่ครับ อืมม 18 มิ.ย. ค่ะ ตกลงว่าอยู่กันก่อนจดทะเบียนนะครับ เจอดอกนี้ ก็มองหน้ากันเลิ่กลั่กดิ มันไม่ได้มีอะไรเสียหายใช่ไหมเนี่ยแฟน อยู่ก่อนจด

เสร็จจากจดก็ไปเทศบาล จริงๆเค้าทำบัตรประชาชนที่อำเภอก็ได้นะ แต่พอดีมีความรู้สึกว่าเทศบาลอยู่ในยุคปรับปรุงแล้ว อุปกรณ์ทุกอย่างเปลี่ยนหมดแล้ว คงมีผลทำให้หน้าตาในบัตรประชาชนดีขึ้นมาบ้างเป็นแน่ เลยไปเทศบาล คุณทราบมั้ยคะ ภายใน 15 นาที ดิฉันเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านและทำสมาร์ท การ์ดเสร็จเรียบร้อยแบบไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัวกันเลยล่ะ เหมือนอะไรวูบๆผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ว้าย..ได้สมาร์ทการ์ดแล้ว ที่สำคัญตอนถ่ายรูป พี่ที่คุมกล้องเค้าแบบ น้อง...ช่วยมาดูสิว่าพอใจมั้ย ไม่พอใจพี่ถ่ายให้ใหม่ โห... ประทับใจที่สุด
จากนั้นก็กลับมาที่อำเภอ พี่ที่อำเภอบ่นๆกันว่าเนี่ย ถ้าเค้าไม่ไปเปลี่ยนนามสกุล ทำบัตรใหม่ที่เทศบาลมาก่อน มันก็เป็นเรื่องยุ่งยากของเค้าเอง ต่อไปก็จะหาที่มาที่ไปไม่ได้ว่าชื่อรองเค้ามาจากไหน หรือเป็นขั้นเป็นตอนยังไงมา พอถึงคิวเราเข้าไปยื่นเรื่องแล้วโชว์บัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ดู พี่ๆทั้งหลายแบบตกใจว่าเอ้ย ...เปลี่ยนมาแล้วนี่ ทำได้ไง รวดเร็วมาก เลยบอกว่าเทศบาลเค้าบริการรวดเร็วประทับจิตประทับใจ ไปถึงทำเลยแล้วก็กลับมาเนี่ยแหละ

พอยื่นเรื่องทำชื่อรองก็ปรากฏว่าไม่สามารถทำได้ เพราะระบบยังไม่ดึงชื่อเข้ามาว่าได้เปลี่ยนนามสกุลไปใช้ของสามีแล้ว ในคอมพิวเตอร์ยังเป็นนามสกุลเก่าอยู่ ต้องรอ 2-3 ชั่วโมง เอาเป็นว่าพรุ่งนี้มาใหม่

เลยได้กลับบ้านมานั่งวิตกจริตว่าควรทำหรือไม่ควรทำเนี่ย แล้วชีวิตชั้นจะยุ่งยากไหมนับจากนี้ ทำเครดิตการ์ดล่ะ ทำพาสปอร์ตละ ทำเอกสารแบงค์ล่ะ จะยุ่งยากไหม แต่แฟนบอก ถ้าตั้งใจจะทำแล้วก็ทำไปดิ เดี๋ยวก็มานั่งตาละห้อยอีกว่าทำไมไม่ทำ พอตื่นเช้าอีกวันเลยบึ่งไปเลย ทำเรื่องขอชื่อรอง แป๊บเดียวเสร็จเหมือนกัน พี่ที่เป็นหัวหน้าที่อำเภอเค้าให้เข้าไปคุยในห้อง แล้วพี่เค้าก็ให้ความรู้มากมาย เดี๋ยวจะสาธยายให้ฟังทีหลัง เสร็จแล้วก็เซ็น แล้วเราก็ได้เอกสารการขอชื่อรองมานอนกอดก่ายให้ภาคภูมิใจ

ทีนี้ไอ้ขั้นตอนที่มีปัญหาคือตอนไปเทศบาลเพื่อไปเพิ่มชื่อรองในทะเบียนบ้านกับทำสมาร์ทการ์ดเนี่ยสิ อย่างแรกหน่ะไม่มีอะไร แค่เขียนลงไปในทะเบียนบ้าน แต่ไอ้ย่างหลังเนี่ยสิ เนื่องจากสมาร์ทการ์ด มันมีบรรทัดที่ใส่ชื่อกับนามสกุลแค่บรรทัดเดียว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีสองบรรทัด พอมาเจอเคสนี้ ทั้งชื่อตัว ชื่อรอง นามสกุล ตกขอบตกเหวแบบหลุดการ์ดไปเลยแน่ เจ้าหน้าที่บอกถ้าทำแล้วตกขอบน้องก็ต้องใช้นะ พี่ไม่ทำให้ใหม่นะ เราก็เหวอเลย เพราะทางรัฐไม่ได้นึกถึงข้อจำกัดเรื่องนี้ตอนผลิตสมาร์ทการ์ดออกมา เลยคุยกับพี่ที่เทศบาลว่า คงต้องใช้บัตรประชาชนแบบไม่มีชื่อรองไปก่อน ไว้มีทางแก้แล้วค่อยว่ากันใหม่

เท่านี้ล่ะคะ กระบวนการทั้งหมด หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วชื่อรองมีความสำคัญแค่ไหน ละได้ไหม แล้วตกลงคุณมีปัญหายุ่งยากไหมตั้งแต่ใช้ๆมา วานบอก ตรงนี้ก็จะพูดเลยว่า ตั้งแต่ใช้มา ไม่มีปัญหาล่ะคะ ไม่ได้รู้สึกว่ายุ่งยากอะไร โดยปกติ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา ถ้าเป็นเอกสารทางราชการเมื่อไหร่ ก็ใส่ชื่อเต็มๆทั้งสามตัวลงไป เพราะในระบบทะเบียนราษฎร์เรา เวลาดึงชื่อขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์ มันจะเป็นพรพรรณ เอ็งอุทัยวัฒน์ เหล่าไพบูลย์ ทั้งที่บนหน้าบัตรไม่ต้องมีชื่อเต็ม อย่างพาสปอร์ต เวลากรอกก็ต้องใช้เต็มๆ เพราะมันดึงเอาข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์มาใช้เหมือนกัน แต่ถ้าจะเป็นบัตรอย่างอื่น ชื่อรองก็ไม่ได้สำคัญเท่าไหร่ คุณอยากมีหรือไม่มีก็ได้ อันไหนอยากมีก็ใส่ อันไหนไม่อยากมีก็ไม่ต้องใส่ อย่างพวกบัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า มันไม่ใช่เอกสารทางราชการนี่ จะใส่เป็น Pornpan E.Laopaiboon ยังได้เลย หรืออย่างติดต่อแบงค์ แบงค์เค้าบอก เรายึดตามหน้าบัตร ก็โอเค มีแค่ชื่อตัวกับชื่อสกุล เท่านี้ก็พอ หรือถ้าไปทำอะไรที่เราไม่แน่ใจนัก ก็ถามเค้าว่าจะต้องใส่ชื่อรองเข้าไปด้วยให้มันครบๆรึเปล่า เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ก็บอกมาเองว่าต้องใส่ หรือไม่ต้องใส่

โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ความสำคัญมันค่อนข้างจะน้อยมากถ้าเทียบกับชื่อตัวกับชื่อสกุล สองอันนี้มันเป็นตัวหลักๆอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องมี ชื่อรองเหมือนเอาไว้สนองนีดตัวเองแค่นั้นแหละ ใครอยากมีอยากจด ก็คงต้องทำกระบวนการแบบเดียวกันเนี่ยแหละคะ ให้ย้อนกลับไปมอง จริงๆมันก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากนะ เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเองถึงรู้สึกว่ามันยุ่งยาก พอรู้แล้วทำฉึบฉับแป๊บเดียวก็เสร็จแล้วค่ะ

8 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ22 ธันวาคม 2553 เวลา 07:34

    สวัสดีคะ ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ. ชื่อรุ่ง นะคะ อยู่กทม

    รุ่งอยากทราบว่า รุ่งจะมีชื่อรองได้ไหมคะ ..คำตอคือได้แน่นอน..แต่..

    ปัญหาคือ รุ่งจะใช้นามสกุลแฟนนะคะ มาเป็นชื่อรอง แต่ต้องจดทะเบียน

    ก่อนสำคัญตรงนี้ละคะ รุ่งเป็นสาวประเภท2 นะคะ ทางสำนักงานเขต

    บอกว่าทำไม่ได้ เลยไม่รู้ว่าจะต้องทำไงนะคะ เช่น กฤษติยา

    บอสแมน ( นามสกุลแฟน ) พงษ์อภิชัย

    รุ่งจะต้องทำไงบ้างอะคะ งง จังเลย


    ขอบคุณนะคะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ7 กรกฎาคม 2554 เวลา 01:24

    ขอบคุณมากเลยค่ะที่ให้ความกระจ่าง กำลังจะไปทำอยู่เหมือนกัน คิดอยู่ว่าไปที่อำเภอแล้วต้องทำไงหว่า

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ13 กรกฎาคม 2555 เวลา 12:07

    บทความยาวมากค่ะ แต่อ่านเพลินเหลือเกิน เห็นภาพ เข้าใจอารมณ์ผู้เขียน
    ชอบค่ะ ได้ความรู้ด้วย

    ตอบลบ
  4. เพิ่งทราบวันนี้เอง ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้ดี พอดีมีเพื่อนใช้ชื่อรองเหมือนกัน

    ตอบลบ
  5. มีประโยชน์มากเลยค่ะ กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไร กลัวมีปัญหาตอนทำธุรกรรมเอกสารราชการต่างๆ ค่ะ

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ ได้เพิ่มความมั่นใจหน่อย ผมกำลังจะเปลี่ยนชื่อ ไหนๆก็เปลี่ยนแล้วก็คิดว่าใส่นามสกุลเดิมของแม่เป็นชื่อรองด้วยเลยแปลกดี แต่ตอนแรกกลัวจะมีปัญหาเรื่องบัตร ค่อยโล่งหน่อย

    ตอบลบ
  7. ผมจะเปลี่ยนชื่อ ชื่อนี้จะสมารใช่ได้มัยคับ นารายณ์ กฤษณะ สองชื่อนี้อันไหนตั้งได้และไม่ได้บ้างคับ

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2563 เวลา 01:09

    ชื่อสุปราณี นามมุข แล้วชื่อกลางคืออะไร ุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุุ

    ตอบลบ