วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2549

เหตุอาเพศก่อนเสียกรุง

เหตุอาเพศก่อนเสียกรุง 19/3/2550

ฉบับนี้ขอเกาะติดกระแสนิยมสักหน่อยนะคะ ช่วงที่ผ่านมาคิดว่าหลายคนคงได้ไปชมภาพยนต์แห่งสยามประเทศเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกันมาแล้ว ส่วนตัวคนเขียนนี่ไม่ต้องพูดถึง เข้าวันไหน ไปวันนั้น เพราะรอมานานมาก นานๆจะมีภาพยนตร์ถูกใจอย่างนี้มาให้ชมสักที จริงๆถ้าเทียบกับเมื่อตอนที่เรื่องสุริโยทัยเข้าใหม่ๆ กระแสคนตื่นตัวของหนังเรื่องนเรศวรอาจจะสู้ได้ยาก เพราะเมื่อตอนที่สุริโยทัยเข้านี่ โรงแทบแตก คนเต็ม ทุกคนชื่นชม อาจจะด้วยความที่ใหม่มาก เมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครใช้ทุนสร้างสูงขนาดนั้น ตอนนั้นคนเลยเฝ้ารอ พอเข้าก็แห่ไปชมกันเพียบ

แต่เรื่องสมเด็จพระนเรศวรเป็นเรื่องที่สองของท่านมุ้ย แล้วแนวหนังก็คล้ายๆกัน คนเลยไม่ค่อยจะตื่นเต้นสักเท่าไหร่แล้ว ซึ่งจริงๆถ้าเทียบกัน เรื่องสมเด็จพระนเรศวรยังจะดูง่ายกว่า ลำดับเรื่องได้ดีและเข้าใจกว่า ไม่เหมือนตอนเรื่องสมเด็จพระสุริโยทัยที่มีกษัตริย์หลายพระองค์ หลายยุค หลายสมัย คนนั้นก็เด่น คนนี้ก็เด่น กว่าเรื่องจะมาถึงตัวหลักจริงๆก็ปาไปครึ่งค่อนเรื่อง ฝรั่งมาดูคงงงตาแตก ไม่รู้ใครเป็นใคร ตามเรื่องไม่ทัน แต่เรื่องพระนเรศวรนี่ดูง่ายกว่าเยอะนะคะ เพราะตัวหลักที่สุดมีอยู่คนเดียว เข้าใจง่าย ใครยังไม่ได้ดูก็ควรไปซื้อหาดีวีดี หรือวีซีดี ของแท้มาดูนะคะ ย้ำว่าควรจะเป็นของแท้

คราวนี้ก็จะมาว่ากันถึงเรื่องที่จะเขียนกันในคราวนี้ เป็นเรื่องเก่าๆที่ย้อนกลับไปสมัยกรุงศรีอยุธยาเหมือนกัน แต่เป็นช่วงก่อนที่กรุงจะเสียครั้งที่สองนะคะ ไม่เหมือนกับในหนังที่เป็นช่วงเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง
คุณรู้ไหมว่ากรุงศรีอยุธยานี่ดำรงความเป็นราชธานีมายาวนานกี่ปี เฉลย เฉลย 417 ปี เด็กประถมมัธยมคงตอบได้ ถ้าเทียบกันแล้ว กรุงรัตนโกสินทร์ยังมีอายุน้อยกว่ากรุงศรีแบบครึ่งๆเลยนะคะ เพราะกรุงรัตนโกสินทร์นี่ดำรงมาได้เพียงสองร้อยกว่าปีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่ากรุงศรีนี่เจริญรุ่งเรืองสุดๆมายาวนานมาก

จากบันทึกของนักประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่าพระบรมหาราชวังของพระนครศรีอยุธยามีขนาดใหญ่กว่าพระบรมหาราชวังที่กรุงเทพถึงสามเท่า มีกษัตริย์ปกครอง 34 พระองค์ ผ่านช่วงหฤโหดมาก็เยอะ แต่ละช่วงก็ค่อนข้างจะเปราะบาง ผลัดแผ่นดินบ่อย มีศึกชิงบัลลังก์ทั้งระหว่างคนในครอบครัวกันเองกับคนนอกครอบครัว คนต่างราชวงศ์ก็แย่งกันไปแย่งกันมา เค้าถึงบอกว่าผู้ที่เกิดมาภายใต้ร่มเศวตรฉัตรคงจะหลีกเลี่ยงเหตุนองเลือดไม่พ้น

แต่ก็มีหลายยุคหลายสมัยเหมือนกันที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด อย่างสมัยที่พระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ ยุคนั้นเปรียบได้กับยุคเริ่มต้นของการรวบรวมแผ่นดิน ขยายราชอาณาจักร เป็นปึกแผ่น โดยมีอยุธยาเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครอง มีกฎหมายของตัวเองไว้ใช้ทั่วราชอาณาจักร หรืออย่างยุคของพระไชยราชาธิราชเจ้า ก็เป็นยุคที่ได้แผ่อาณาเขตไปจนถึงเขตเหนือสุด และกรุงศรีอยุธยาก็มีราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวร ส่วนในด้านการค้าและปฏิมากรรม ยุคของพระเอกาทศรส พระเจ้าปราสาททอง และพระนารายณ์ รวมถึงพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีความโดดเด่นในเรื่องนี้ ใครที่เคยได้ไปอยุธยา หรือเคยเห็นปราสาทราชวังในละครบ้าง ที่เมืองโบราณบ้าง รวมทั้งที่พระบรมมหาราชวัง หรือวัดพระแก้ว คงจะพอจินตนาการออกว่าในยุคสมัยที่กรุงศรีเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ความสวยงามของบ้านเมืองโดยเฉพาะในเขตราชฐานและวัดวาอารามนั้น หรูเลิศอลังการเพียงใด

แต่สุดท้าย ความสวยงามที่ว่า ก็โดนพวกฆ่าศึกมาพรากเอาไปจากราชธานี

ตอนนั้น พม่ารามัญเข้ามาบุกกรุงศรี โดยมีพระเจ้ามังระ สั่งให้เนเมียวสีหบดี และ มังมหานรธา เป็นแม่ทัพยกมาสองฟาก และก็เพราะแม่ทัพสองนายนี้ต้องการจะแก่งแย่งเอาความดีความชอบ จึงได้มีการแข่งขันกันว่าใครจะเข้ามาถึงชานพระนครก่อนกัน ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว กรุงศรีเราเองมีกษัตริย์ปกครอง คือ เจ้าประคุณขุนหลวงสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) เป็นเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งตามพงศาวดารที่กล่าวกันมา พระองค์เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ หลงใหลในอิสตรี

แต่จากหลักฐานที่ได้พบในสมัยหลัง ทั้งจากบันทึกของมิชชันนารี พ่อค้าต่างชาติที่มาค้าขายในช่วงเวลานั้น รวมถึง ยาสุวินเต๊ะ (พงศาวดารพม่า) ได้กล่าวตรงกันว่า พระนครศรีอยุธยาได้มีการเตรียมกำลังป้องกันพระนครอย่างเข้มแข็ง และมีการยิงปืนใหญ่ป้องกันโต้กลับ แต่โชคร้ายที่กำลังข้าศึกมีมากมายมหาศาลกว่าสงครามที่ผ่านมา พม่าเองก็ได้เรียนรู้ที่จะหลบเลี่ยงฤดูน้ำหลากจากศึกครั้งก่อนๆ เลยพอจะเข้าใจภูมิศาสตร์ของกรุงศรีเป็นอย่างดี และยังคาดคะเนว่าเสบียงอาหารในกรุงคงจะอยู่ได้ถึงช่วงน้ำหลากเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามคาด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเองก็ต้านศึกกันได้ยาวนานกว่าเมื่อตอนเสียกรุงครั้งแรกเสียอีก เลยอยากจะให้ความเป็นธรรมกับกษัตริย์ของเราในสมัยนั้นด้วยว่า พระองค์ไม่น่าจะทรงเป็นบุคคลที่อ่อนแอจนเกินไป เพราะไม่อย่างนั้นก็คงจะเสียกรุงกันตั้งแต่ช่วงเดือนต้นๆที่ต้องรับข้าศึกแล้ว

ที่นี้ เรามาเข้าถึงประเด็นสำคัญของเรื่องในฉบับนี้กันดีกว่า คุณผู้อ่านเคยได้ยินเรื่อง เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยากันบ้างหรือเปล่า เพลงยาวที่ว่ามีการแต่งกันขึ้นในช่วงสมเด็จพระนารายณ์ โดยคาดว่าจะเป็นสมเด็จพระนารายณ์เองเป็นผู้แต่ง แต่ก็ยังไม่มีใครบอกได้ ถ้านับช่วงเวลาแล้ว ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มาจนถึงพระเจ้าเอกทัศน์ กินเวลาได้เกือบๆร้อยปี ก็เท่ากับว่ามีการพยากรณ์ถึงการเสียกรุงมาก่อนถึงศตวรรษนั่นเอง ข้างล่างนี้ คือตัวอย่างเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาที่ได้คัดเลือกบางตอนมาให้อ่านกัน

กรุงศรีอยุทยานั้นสมบูรณ์ เพิ่มพูนด้วยพระเกรียศคะจรจบ
อุดมบรมศุขทั้งแผ่นภิภพ จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศมิตราชธรรม์ จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพด อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล เกิดนิมิตพิศดานทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร

นี่เป็นตัวอย่างเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาบางส่วนที่บ่งบอกว่าจะเสียกรุง ถ้าใครไปหาเวอร์ชั่นเต็มมาได้จะเห็นว่ามีการบรรยายเป็นโครงกลอนถึงความวิปริตวิปลาสก่อนเสียกรุงไว้เยอะ แล้วผลก็เกิดขึ้นจริงในอีกกว่าหนึ่งร้อยปีถัดมา

ส่วนเหตุอาเพศที่เกิดขึ้นจริงนั้น หลายคนคงจะเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่ก็เชื่อว่าคงมีอีกหลายคนที่ไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน ก่อนจะเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 มีเหตุการณ์น่าประหลาดเหมือนลางบอกเหตุเกิดขึ้น เริ่มจากเหตุการณ์แรก ช่วงก่อนเสียกรุงประมาณหนึ่งเดือน พระประธานวัดเจ้าพนัญเชิง ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่องค์ใหญ่ที่สุด และสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยาจะก่อตั้งถึง 26 ปี ได้มีน้ำพระเนตรไหลลงมาจนถึงพระนาภี

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นในวัดพระศรีสรรเพชญ พระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเดียวกับพระมหากษัตริย์ เกิดพระอุระแตก ดวงพระเนตรตกลงมาอยู่ที่ตัก

เหตุการณ์ที่สาม คือมีอีกาสองตัว ตีกันในอากาศ ตัวหนึ่งตกลงมา อกเสียบเข้ากับยอดพระปรางค์วัดราษฎร์บูรณะ ส่งเสียงร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวดอยู่สองเพลา (สองวัน) จึงขาดใจตาย

เหตุการณ์ที่สี่ คือรูปหล่อพระนเรศวรเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่โรงแสงใน ได้กระทืบพระบาทสนั่นไปทั้งสี่ทิศ อากาศก็วิปริตผิดแผก ท้องฟ้าเป็นสีแดงอยู่หลายวัน

และช่วงสิบห้าวันก่อนกรุงแตก ที่ค่ายวัดไชยวัฒนารามซึ่งถือว่าเป็นค่ายที่แข็งแกร่งมาก ก็เสียให้กับพม่า จากนั้นพม่าก็เข้าตีกรุงได้ เมื่อวันอังคารเดือน5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก เพลาบ่าย 4โมง พม่ายิงปืนป้อมสูงวัดท่าการ้อง และวัดนางปลื้มเข้ามาในกรุง จากนั้นได้เอาเพลิงจุดที่รากกำแพงพระนคร พอถึงเวลาค่ำ กำแพงได้ทรุดลง พม่าก็เข้ากรุงได้ที่บริเวณหัวรอ

จากนั้นก็เอาไฟเผาบ้านเมือง วัดวาอาราม ฆ่าและกวาดต้อนผู้คนไปที่พม่า รวมทั้งลอกเอาทองจากพระพุทธรูปและสิ่งก่อสร้างไปทั้งหมด นึกแล้วก็ให้เสียดาย ทั้งพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ พระที่นั่งวิหารสมเด็จมหาปราสาท พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท พระที่นั่งสุริยามรินทร์ รวมทั้งพระศรีสรรเพชญชดาญาณซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนหุ้มด้วยทองคำทั้งองค์ ถูกทำงายจนหมดสิ้น

แต่มีอยู่สองที่ที่ไม่ถูกเผา นั่นคือ วัดหน้าพระเมรุ เพราะวัดนี้ พม่าใช้เป็นที่บัญชาการในการตีพระนคร และยังเป็นวัดที่เมื่อเก้าปีที่แล้ว อลองพญา พ่อของมังระ ได้ใช้วัดนี้เป็นที่บัญชาการรบ แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ลงมาจุดปืนใหญ่ด้วยตัวเอง แต่ปืนใหญ่กลับระเบิดถูกตัวเองตาย พม่าเลยมีความเชื่อว่า วัดหน้าพระเมรุมีอาถรรพ์ จนเป็นที่หวาดกลัวของพวกพม่าต่อมาในสมัยหลัง

กับอีกที่ที่ไม่โดนทำลาย คือหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ด้วยความที่เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ พม่าจึงเกรงกลัว ไม่กล้าทำลาย ปัจจุบัน ถ้าใครได้ไปเที่ยวอยุธยา จะเห็นวัดสองวัดนี้มีผู้คนเข้าไปสักการะพระพุทธรูปทั้งสององค์อยู่มาก ทั้งคนไทยทั้งคนต่างประเทศ ส่วนวัดอื่นๆ ต่างโดนเผา แต่ก็ยังเหลือโครงสร้างให้เห็นความงดงาม ทั้งที่เหลือแต่อิฐแล้ว อย่างวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความงดงามมาก จนชาวต่างชาติทั้งในสมัยอยุธยา และสมัยปัจจุบัน ยกให้เป็นนครวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากันเลยทีเดียว และก็มีอีกหลายวัด ที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นวัดใหญ่ไชยมงคล มีตำหนักและรูปหล่อใหม่ของสมเด็จพระนเรศวรให้ผู้คนกราบไหว้ หรืออย่างวิหารพระมงคลบพิตร ก็มีการบูรณะพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่โดนพม่าเผาขึ้นมาใหม่

ใครที่พอมีเวลาว่าง หรือมีโอกาส อยากให้แวะเข้าไปเที่ยวอยุธยาดู แล้วคุณจะติดใจ เพราะเหมือนได้เข้าไปสัมผัสกับอารยะธรรม และกลิ่นอายแห่งประวัติศาสตร์ การเดินทางไปจากกรุงเทพก็ไม่ไกล ใช้เวลาไปแค่ชั่วโมงกว่าๆ หรือถ้ามาจากอุดรก็แวะเข้าอยุธยาก่อนกรุงเทพ ขับรถเข้าไปแค่ไม่ถึง 30 นาทีจากทางหลวง คุณก็จะได้เห็นเมืองที่เคยเป็นอดีตราชธานีอันยิ่งใหญ่ของเราแล้ว ที่สำคัญ อาหารอร่อย ทั้งก๋วยเตี๋ยวหน้าวัดใหญ่ หรือร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือใครจะล่องเรือ ทานอาหารไป ชมวิวทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปก็ได้ เสร็จแล้วก็ซื้อโรตีสายไหมกลับมาเป็นของฝาก ของเค้าอร่อยจริงๆ ไม่ลองไม่รู้นะคะ

สุดท้ายนี้ มีกลอนอยู่บทหนึ่งที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่หนึ่ง ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าท่านเป็นผู้ที่เห็นบ้านเมืองทั้งในขณะที่รุ่งเรืองสูงสุด จนถูกทำลายพินาศย่อยยับไปต่อหน้าต่อตา จึงแสดงความอาลัยอาวรณ์ออกมาด้วยโครงบทนี้

จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว ดั่งดวงแก้วอันสิ้นแสงใส
นับวันแต่จะลับดับไป ที่ไหนจะคืนคงมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น