อยากมีหนังสือของตัวเองสักเล่ม ทำอย่างไร 24/5/2550
สองเดือนผ่านไป ไวเหมือนโกหก กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ ฉบับที่แล้วเขียนเรื่องอยุธยา หวังว่าคงจะถูกใจหลายๆท่าน ส่วนฉบับนี้ขอเอาใจคนชอบเขียนหนังสือหน่อยแล้วกัน เลยว่าจะเขียนเรื่อง อยากมีหนังสือของตัวเองสักเล่ม (หรือหลายเล่ม) ทำอย่างไร ก็จะเริ่มตั้งแต่แนวคิดในการจะเขียนหนังสือ การวางโครงร่าง ลงมือเขียน พอเขียนเสร็จแล้วส่งสำนักพิมพ์ ต้องผ่านขั้นตอนพิธีการยังไงกว่าจะออกมาเป็นรูปเล่ม เสร็จแล้วก็เซ็นสัญญา ตามด้วยการตกลงเรื่องค่าตอบแทน จนสุดท้ายคือหลังจากหนังสือออกเราจะต้องทำอะไรบ้าง เรื่องพวกนี้คนเขียนเองผ่านมาหมดแล้ว ถึงจะไม่ได้ช่ำชองอะไร แต่ก็พอจะรู้ขั้นตอนและรายละเอียดทั้งหลาย จากประสบการณ์ส่วนตัว แล้วก็จากการคุยกับคนในแวดวงมาบ้างอ่ะนะคะ
ช่วงที่ออกหนังสือก็จะมีหลายคนมาถามถึงเรื่องการเขียน การได้รับค่าตอบแทน เดี๋ยวจะเลือกเอาสิ่งที่เป็นคำถามท๊อปฮิตมาตอบให้ละเอียดแล้วกัน เริ่มแรกเลยคือแนวคิดในการเขียน แน่นอนล่ะ สิ่งแรกที่ต้องมีเลยคือ “จะเขียนเรื่องอะไร” ถ้าไม่รู้นี่ก็จะเขียนทำไม ใช่ไหมคะ สำหรับตัวเองนะ เบสิคๆเลยคือต้องเป็นเรื่องที่ตัวเองรู้อยู่แล้ว หรือประสบการณ์ที่เคยผ่านๆมา เพราะประสบการณ์ไม่มีผิดไม่มีถูก ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ไม่ใช่หลักวิชาการ ก็ฉันเจอมาอย่างงี้ ใครจะมาบอกว่าฉันไม่ได้เจอล่ะ ใช่มะ ก็ฉันเจอมาด้วยตัวเองนี่ แล้วต้องเป็นเรื่องที่รู้โดยละเอียดด้วยนะ ไม่ใช่รู้งูๆปลาๆแล้วมาทำเป็นว่ารู้จริงเหลือเกิน ถ้าทำอย่างงั้น คนอ่านนั่นแหละจะมาฆ่าคนเขียนเอง แต่ก็มีบางเรื่องเหมือนกันนะคะ ที่ณ. เวลาเขียนยังติดว่าเขียนออกไปนั่นจะผิดหรือถูก ถ้าเจออย่างงั้นก็จะวิ่งไปหาข้อมูลมาสนับสนุนก่อน ไม่อยากเขียนสุ่มสี่สุ่มห้า แล้วการที่เขียนในสิ่งที่ตัวเองรู้ หรือเคยประสบมาด้วยตัวเอง มันก็จะทำให้การเขียนง่ายและลื่นไหลขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาคิดนาน
พอได้เรื่องที่จะเขียนแล้วก็ต้องมาวางโครงเรื่อง อันนี้สำคัญนะ ถ้าคิดได้แต่หัวเรื่องแต่ไม่คิดหัวข้อย่อย หรือทำโครงขึ้นมา เวลาคุณเขียนจะลำบากมากเลย เพราะไม่สามารถคอนโทรลตัวเองให้อยู่กับร่องกับรอยได้ แล้วสุดท้ายก็จะพบว่าตัวเองเขียนวนไปวนมา มุดหลุมโน้น ออกหลุมนี้ เดี๋ยวก็มาที่เก่า เลอะเทอะนะคะเลอะเทอะ สะเปะสะปะไม่ไหวเลย ดังนั้น ที่สำคัญคือต้องวางโครงเรื่อง มันจะทำให้เรารู้จุดหมายปลายทาง และสโคปของแต่ละหัวข้อที่เราจะเขียนได้ดี อย่างที่คนเขียนกำลังเขียนบทความนี้อยุ่ ก็แบ่งโครงเรื่องไว้ก่อนเป็น ช่วงเลือกหัวข้อและเนื้อหา ช่วงเขียน ช่วงส่งสำนักพิมพ์ ช่วงตรวจแก้ไข ช่วงตกลงเซ็นสัญญาและค่าตอบแทน แล้วก็ช่วงหนังสือออก เห็นมะ แค่เราลำดับมัน การเขียนออกมาก็จะไม่ยากแล้ว เพราะเรารู้ว่าพอถึงตรงนี้เราจะเขียนอะไร
ที่นี้มาถึงตอนเริ่มเขียน หลายคนถามว่า เขียนอะไรยาวๆอย่างงี้ได้ไงอ่ะคะ เขียนไม่เป็นน่ะ อืมมม ก็นะ ถ้าจะพูดให้เข้าข้างตัวเองหน่อยก็จะบอกว่าฟ้าประทานพรสวรรค์มาให้ สามารถเขียนอะไรไปได้เรื่อยๆ บางเรื่องคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรจะเขียน น่าจะสักสองหน้าเอสี่ก็พอ แต่พอเอาเข้าจริงๆต้องโทรไปบอกพี่บก.ว่า ขอโทษนะคะ มันหยุดไม่ได้จริงๆ ช่วงที่เขียนบทความให้โฮมช่วงแรกๆนี่ยิ่งหนัก เขียนเสร็จแทนที่บก.จะหนักใจ กลายเป็นนักเขียนหนักใจ ตายแล้ว ต้องขอโทษพี่เค้า เพราะพี่เค้าบอกเสมอว่าให้เขียนบทความสั้นๆ สัก2-3 หน้า เจ๊ล่อไป5-6 หน้าประจำ จนบก.ตัดเป็นสองตอนซะเลย แต่ถ้าจะให้เหตุผลนอกเหนือจากพรสวรรค์ก็ต้องบอกว่า เพราะการเลือกเรื่องที่เราเขียนเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่รู้อยู่ในสมองอยู่แล้ว เนื้อหามันก็จะพรั่งพรูออกมาเองล่ะคะ
ว่าแล้วก็มาถึงเรื่องสำนวน ส่วนตัวเลยนะ ยึดหลักง่ายๆเลยคือ เขียนให้เหมือนกับว่าตัวเองกำลังเล่าให้เพื่อนฟังอยู่ แล้วภาษามันก็จะออกมาเป็นธรรมชาติมาก อย่างสมัยที่เขียนเรื่องไปอังกฤษ เล่มนั้นภาษาก็จะโฉ่งฉ่างวัยรุ่น ช่วงนั้นสบถอะไรยังเอาไปใส่ในหนังสือเลยเอ้า ถ้าคำไหนเน้นหน่อยก็ใช้ตัวอักษรหลายๆตัว อย่าง ช่วงนี้งงงงงงงงมากกกกกก คนอ่านก็จะอารมณ์แบบ อือฮือ ช่วงนั้นแกต้องงงกับชีวิตแกมากแน่ๆ เป็นอะไรมากมั้ย ประมาณเนี้ย ด้วยความที่คิดอยู่เสมอไง ว่าไม่อยากให้คนอ่านอ่านแล้วเบื่อ อ่านแล้ววาง ก็ต้องเขียนอะไรที่มันเป็นธรรมชาติของการพูดคุยกันของกลุ่มเป้าหมายที่เราวางเอาไว้ ถ้าจะไปเลือกเขียนเรื่องผู้ป่วยโรคหัวใจ แล้วจะให้เขียนออกอรรถรสอย่างนั้นก็คงไม่ใช่ “ฮูยแก....หมอบอกฉันเป็นโรคหัวใจวะ โห เซ็ง พรุ่งนี้จะตายไหม” ไรงี้เหรอ มันก็ไม่ใช่ ผิดกาลเทศะ แต่ถ้าเรื่องไปเรียนต่อ จะเขียนว่า “วิธีการติดต่อมหาวิทยาลัยมีอยู่สองวิธี คือ หนึ่ง...” คนอ่านคงจะอ่านได้สองหน้าก็วางทิ้งแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น “เนี่ยนะ..เมื่อวานแชทกับคนที่กำลังเรียนอังกฤษ เค้าบอกว่าให้ติดต่อกับคนนื้ ดูแลเรื่องของเราดีโคตรๆ .....” คนอ่านมันก็จะเอ่อ เหมือนเพื่อนเล่า อยากรู้ต่อ ไอ้คนที่ว่านี่เป็นใคร จะได้ไปติดต่อมั่ง ไรเงี้ย
ช่วงเวลาที่เขียนก็สำคัญ ถ้าอารมณ์ไม่ได้นี่ ให้ตายยังไงก็เขียนไม่ได้เลยนะ แต่วันไหนอารมณ์พรั่งพรู นั่งเขียน4-5ชั่วโมงยังไม่เป็นไร มุกไหลตลอด ของอย่างนี้มันขึ้นกับอารมณ์ด้วย ปกติเขียนอย่างเก่งๆก็ได้ประมาณวันละ 4-5 หน้าเอสี่อ่ะคะ หมดจากนั้นจะได้แต่ปริมาณ คุณภาพไม่ได้ เพราะสมองจะเริ่มไม่อยู่กับร่องกับรอย หรือถ้าเมื่อไหร่เริ่มหมดมุก ก็จะนั่งจินตนาการว่าเพื่อนสนิทกำลังนั่งฟังเราอยู่ตรงหน้า เดี๋ยวจะเมาท์เรื่องนี้ให้มันฟัง แค่นี้ก็พอจะช่วยให้ออกรสออกชาดได้บ้างแล้ว พ๊อกเกตบุ๊คเล่มนึงที่ตัวหนังสือแน่นๆ ประมาณ 200 กว่าหน้า จะใช้เวลาเขียนอยู่ประมาณ 3 เดือนอ่ะคะ คิดเป็นหน้าเอสี่ก็ประมาณ 60 กว่าหน้าเอสี่ ตัวอักษร 14 ประมาณนี้
ที่นี้พอเขียนเสร็จ ก็ต้องย้อนมาดูจุดประสงค์แต่แรกเริ่มดั้งเดิมในการเขียนหนังสือ มีบางคนเขียนแล้วอยากทำเป็นเล่ม เพื่อแจกเป็นวิทยาทาน หรืออ่านกันเองในหมู่เพื่อนฝูง ค่าใช้จ่ายในการทำเล่ม ตูขอออกเองทั้งหมด กับสองคือหวังสร้างชื่อ พูดง่ายๆคือหวังขายนั่นแหละ ถ้าเป็นจุดประสงค์แบบแรก สำนักพิมพ์จะอ้าแขนรับ และปูพรมให้ตั้งแต่ยังไม่ก้าวเข้าประตูสำนักพิมพ์เลยเชียว เสร็จแล้วก็จะพิมพ์ให้เราได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าแบบที่สองหรือ ผู้เขียนต้องกระเสือกและกระสนหาลู่ทางเอาเอง บางคนอาจจะมีคนรู้จักใหญ่โต มีพาวเวอร์ที่จะเอางานไปเสนอให้ บางคนต้องหาเอง อันนี้ก็จะเริ่มที่ไปหาสำนักพิมพ์ในดวงใจมาก่อน ทั้งนี้ต้องพึงระลึกเสมอว่า สำนักพิมพ์ใหญ่ คิวที่รอก็ต้องยาว เผลอๆก็เป็นปี ส่วนสำนักพิมพ์เล็กๆ งานไม่เยอะ ก็อาจจะได้เร็วหน่อย แต่ก็จะเจอปัญหาจุกจิกมากมายตามมา เช่นไม่มีความเป็นมืออาชีพพอ
หลังจากหาสำนักพิมพ์ได้ ก็ต้องไปหาชื่อ บก. ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูให้ถูกชื่อถูกตัวถูกคน ไม่ใช่เขียนเรื่อง รักใสใสในวัยเรียน แล้วไปส่งให้ บก. หนังสือจตุคามนะ อย่างงี้ไม่ถูก พอหาชื่อได้ก็ส่งงานล่ะคราวนี้ ส่วนใหญ่ก็จะให้ส่งงานทางไปรษณีย์ หรือถ้าใครอยากไปด้วยตัวเองก็ต้องนัดก่อน ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าไป เสร็จแล้วก็รอร๊อรอ ถ้าไม่มีเส้นล่ะก็ บางรายอาจจะต้องรอหกเดือนผ่านไป สิบเดือนผ่านไป เผลอๆต้นฉบับลงถังที่ไหนไปแล้วก็ไม่รู้ ไอ้คนรอก็ได้แต่รอ จริงๆก่อนส่งถ้าจะให้เป็นที่น่าสนใจหน่อยก็ควรจะเขียนใบปิดงาน แปะเอาไว้ด้านหน้า บอกประวัติเราเล็กน้อย บอกเนื้อหาโดยสังเขป แล้วก็บอกถึงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งจุดแข็งของหนังสือคุณ เพื่อเป็นการดึงดูด บก.ให้สนใจด้วยการอ่านจากใบปิดหน้างานคร่าวๆนี่แหละ ไอ้ที่จะรอให้เค้าอ่านจบเล่มบางทีมันก็อาจจะไม่ทันการณ์
หลังจากรอ ถ้าใครโชคดีหน่อยก็จะได้รับการติดต่อกลับมา บอกว่าสนใจจะพิมพ์ อาจจะมีการเรียกเข้าไปคุย หรือไม่ก็ส่งสัญญาให้เซ็นเลย ในสัญญาหลักๆก็จะระบุถึงค่าตอบแทนที่จะให้ ระยะเวลาในการถือลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ อย่างสามปีที่เซ็นสัญญาไป ห้ามเอาไปให้ใครพิมพ์ แล้วก็มีเรื่องจำนวนที่จะพิมพ์ แล้วก็สิ่งที่จะให้นอกเหนือจากค่าตอบแทน อย่างให้หนังสือฟรี 10 ชุด ประมาณนั้น
โดยปกติ ค่าตอบแทนที่ได้จากงานเขียนหนังสือจะมีการให้อยู่สองแบบ หนึ่งคือให้แบบเหมาจ่ายไปเลย เช่น เขียนหนังสือเล่มนี้ น้องเอาไปสามหมื่นเลยแล้วกัน ขาดตัว ให้แล้วก็ถือว่าจบ กับวิธีที่สอง คือให้แบบแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดพิมพ์ เช่น หนังสือเล่มละ 200 บาท ตกลงกันที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ครั้งแรกจะพิมพ์ 2,500 เล่ม สูตรในการคำนวณก็จะเป็น เอาราคาปก คูณจำนวนพิมพ์ แล้วก็คูณด้วย 5 เปอร์เซ็นต์ อย่างในกรณีนี้ก็จะได้ 25,000 บาท ดูสิ เขียนแทบตาย ได้เท่านี้ แล้วมันก็ได้เท่านี้จริงๆด้วยนะ อย่าไปนึกว่าเป็นนักเขียนแล้วได้เงินดีนะจะบอก ได้กันเท่านี้จริงๆ ยกเว้นว่าคุณจะเป็นดารา นักร้อง นักเขียนระดับท๊อปเทนที่ขายกันได้เป็นแสนๆเล่ม อย่างนั้นหรอกถึงจะรวย ปัจจุบันถึงจะเห็นว่าหลายสำนักพิมพ์ชอบไปหาดารามาทำพ๊อกเกตบุ๊ค ส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนเองหรอก อาศัยเล่าเอา แล้วมีคนเขียนให้อีกที หนังสืออย่างงั้นมันขายได้ในระดับแมส คือระดับประเทศ คนอ่านสนใจเหลือเกิน เพราะเป็นเรื่องดารา ขายได้ทีว่ากันเป็นหมื่นๆแสนๆเล่ม พิมพ์ครั้งที่ 18,19,20 ว่ากันไปโน่น หรืออย่างนักเขียนที่ติดตลาดรุ่นใหญ่ๆ เปอร์เซ็นต์ที่ได้เค้าไม่ว่ากันที่ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์หรอก ส่วนใหญ่ต้องได้มากกว่านั้น
สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ยังไม่เคยมีผลงานมาก่อน ส่วนใหญ่โดนกดกันทั้งนั้น มีสารพัดเหตุผลจะมาพูดกันล่ะ อย่าง น้องต้องเข้าใจ ว่าน้องยังใหม่ ทางสำนักพิมพ์ก็เสี่ยงเหมือนกัน ไม่รู้จะขายได้ไหม ก็เอาไปเท่านี้ สมเหตุสมผลแล้ว ส่วนตัวคนเขียน เจอมาทั้งสองอย่าง ทั้งแบบแรกแล้วก็แบบที่สอง ครั้งแรกสุดเลยคือเจอแบบเหมาจ่าย อึ้งกิมกี่ ด้วยความที่ไม่ประสีประสาไง เกรงใจเค้า อุตส่าห์พิมพ์ให้ สัญญาก็ไม่ได้ดูให้ดีด้วยนะ มาเซ็นเอาทีหลังจนหนังสือพิมพ์เสร็จใกล้วางแผงแล้วโน่น ถึงได้มาเห็นสัญญา ลมแทบใส่ ได้แบบเหมาจ่าย พอมาเล่มหลังๆถึงได้เป็นเปอร์เซ็นต์ ค่อยยังชั่วหน่อย อย่างที่สองนี่ ถ้าได้พิมพ์อีกครั้ง เราก็ได้ค่าเปอร์เซ็นต์อีกนะคะ
ส่วนว่าค่าตอบแทนนี่จะได้เมื่อไหร่ อันนี้มีหลายกรณีค่ะ บางทีก็จะได้ก่อนหนังสือวางแผงเล็กน้อย บางทีก็หลังวางแผงไปแล้ว 6 เดือน บางคนโชคดีหน่อยนี่ได้ตั้งแต่พิมพ์เสร็จใหม่ๆเลย บางคนก็ได้เป็นเช็ค บางคนก็ได้เป็นเงินโอนเป็นงวดๆ หรือบางคนแย่หน่อย ไม่ค่อยจะได้ก็ต้องตามทวงกับสำนักพิมพ์ยิกๆ ส่วนใหญ่จะเจอกับสำนักพิมพ์เล็กๆ ถึงบอกไงคะ เป็นนักเขียนต้องอดทน ถ้าจะหากินกับอาชีพนี้นี่ต้องอดทนมากๆจริงๆ บางทีสองปียังได้ค่าเขียนไม่ครบเลย แต่ถ้ามีอาชีพอื่นเป็นหลักแล้วอยากเขียนหนังสือเป็นรอง อย่างงั้นก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าใครยึดอาชีพนี้เป็นหลัก คงได้เจอช่วงกินแกลบตอนเข้าวงการใหม่ๆแน่ๆ
อะ หมดจากเรื่องทำสัญญาก็มาดูเรื่องตรวจแก้ไขกันบ้าง ขั้นตอนนี้บางทีอาจจะอยู่ก่อนทำสัญญา หรืออยู่หลังก็แล้วแต่ ทางสำนักพิมพ์ก็จะให้เราแก้ไขด้วยตัวเองก่อนรอบนึงจนเสร็จ แล้วก็ส่งไปที่สำนักพิมพ์ ทางนั้นก็จะมีฝ่ายตรวจสอบการใช้คำ สะกดคำ บางทีก็จะตัดคำที่ไม่เหมาะสม ประโยคไหนที่ดูแรงไป หรือประโยคไหนที่ไม่สมควรมี จากนั้นก็ทำอาร์ตเวิร์ก จัดหน้าให้เท่ากับไซส์ของพ๊อกเกตบุ๊ค แล้วก็จะส่งมาให้เราตรวจและแก้สำนวนอีกที สรุปคือแก้สองรอบนั่นเอง แล้วก็ส่งเป็นตัวไฟนอลไปให้สำนักพิมพ์ เสร็จแล้วก็จะมีอีกฝ่าย เป็นฝ่ายออกแบบปก บางทีก็จะส่งปกที่ออกแบบให้เจ้าของเล่มดู บางทีก็ไม่ ถ้าเค้าส่งให้ดู เราก็ตรวจๆ ดูๆ แก้ไขตัวอักษร สี การ์ตูน อะไรอย่างงี้ พอใจแล้วก็โอเคไป จากนั้นก็รอ.... ถ้าได้คิวเลย ไม่เกินสามอาทิตย์ก็วางแผงแล้ว แต่ถ้าไม่ได้คิว ก็ต้องตามคิวล่ะคะ หนึ่งเดือนสองเดือนก็ว่ากันไป
แล้วก็มาถึงวันสำคัญคือวันวางแผง วันนั้นจะเป็นวันที่น่าจดจำที่สุดชีวิตของคนเขียนหนังสือเลยทีเดียว พอเห็นวางปุ๊บก็โอ้โห ความฝันเป็นจริง บนปกหนังสือมีชื่อผู้เขียนคือตัวเราเอง เนื้อหาและตัวอักษรที่ถ่ายทอดข้างในมันเป็นอารมณ์ของเราเองล้วนๆ ยิ่งพอได้รู้ว่าหนังสือขายดี ขายได้ ยิ่งประทับใจใหญ่ เคยไปที่ดอกหญ้าสาขา สยามสแควร์ แล้วเข้าไปถามเค้าว่าหนังสือขายได้ไหมเป็นยังไง เจ้าของร้านเงยหน้าขึ้นมาแล้วถามว่า คุณเองหน่ะเหรอที่เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่ขายมายังไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ขายจนหมด วางใหม่ก็หมด จนต้องโทรตามกับสายส่ง นี่ยังไม่มาเลย คุณมีสัก 20 เล่มไหม ขอมาวางก่อน เสร็จแล้วก็เรียกพนักงานในร้านมาดูคนเขียน ตึง! โอ้โห ...คุณเอ๊ยยยย.....ได้ยินแบบนี้มันชื่นนนนใจ
แต่เดี๋ยวก่อนนะ เดี๋ยวจะหาว่าอวดตัวเอง คือช่วงนั้นด้วยความที่ว่ามันมีสังคมคนจะไปเรียนอังกฤษอยู่ในเวบไซต์ แล้วเราก็เป็นคนที่คอยช่วยเหลือเด็กในนั้นมาตลอด พอหนังสือจะวางแผงก็มีคนช่วยกระพือโปรโมทใหญ่ ยิ่งพอวางแผงน้องๆที่รู้จักก็แห่ไปซื้อ ซื้อแล้วไม่พอยังมาช่วยเชียร์กันในเวบอีกว่าหนังสือดีสุดๆ ช่วงสองสามอาทิตย์แรกที่วางแผง เลยเจอกับเหตุการณ์อย่างงั้น ตั้งตัวไม่ติดไปชั่วขณะ เพราะกระแสมันแรงมากในกรุงเทพ โดยเฉพาะแถวๆสยามแสควร์ เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักๆอยู่ตรงนี้เลย พูดง่ายๆคือมีหลายปัจจัยให้หนังสือขายได้ ทั้งคอนเนคชั่น ทั้งชื่อเสียงที่พอจะเป็นที่รู้จักในกลุ่มเป้าหมาย เลยทำให้ได้รับการต้อนรับที่ดีในช่วงวางแผง ไม่เชื่อคุณลองมีหนังสือเองแล้วเจอแบบนี้ดูดิ แล้วจะรู้ว่าความรู้สึกที่เห็นงานสำเร็จ ได้รับการตอบรับ มันดีมากๆ
หมดจากช่วงวางแผงไปสักหน่อยก็จะมีงานเปิดตัวหนังสือ ทางสำนักพิมพ์ก็จะมาเรียกไปว่า นัดเปิดตัวที่ไหน ใครเป็นพิธีกร มีสคริปต์ว่าจะถามอะไร อะไรประมาณนั้น ถึงวันก็ไปตามนัด ขึ้นเวที พูดๆๆ มีคนมาฟัง มีคนเอาของขวัญมาให้ เยี่ยมไปเลย เป็นอีกสเตปงานที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต แต่ดีนะคะ ให้ความรู้สึกที่ดีมาก ส่วนถ้าใครได้พิมพ์ในสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ก็อาจจะมีการโปรโมทตามสื่อต่างๆว่ามีหนังสือใหม่วางแผงเป็นเล่มนี้เล่มนั้นนะ แต่ถ้าเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆที่ไม่มีงบอาจจะต้องโปรโมทเอง เหนื่อยเอง ประมาณนี้อ่ะคะ
เชื่อว่าหลายๆคนในที่นี้คงอยากมีหนังสือของตัวเองสักเล่ม หวังว่าบทความที่เขียนคงพอจะให้แนวคิดในการสร้างงานออกมาจนเป็นเล่มได้บ้าง ใครที่กำลังเขียน ก็ขอให้มีผลงานเร็วๆ ใครที่ฝันอยู่ ก็ขอให้พยายามทำความฝันให้เป็นจริง เชื่อว่าถ้าลองทุ่มเทแล้วก็พยายาม ไม่นานก็จะมีผลงานของตัวเองล่ะคะ โชคดีโชคดี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ฉันก็อยากมีไดอารี่
ตอบลบ